สิงห์บุรี เมืองคนจริง ถิ่นวีระชนคนกล้า
ถิ่นวีระชนคนกล้า คู่หล้าพระนอน นามกระฉ่อนปลาแม่ลา เทศกาลกินปลาประจำปี…นี่คือคำขวัญของ เมืองคนจริง สิงห์บุรี
ตำนานเล่าว่า จังหวัดนี้ มีที่มาจากวีระกรรมของชาวบ้านบางระจันในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์แห่งกรุงศรีอยุธยา ในปีพ.ศ. 2310 ถึงแม้ว่าจะต้องเสียกรุงไปในที่สุด แต่กองทัพพม่านำกองทัพผ่านมายังหมู่บ้านบางระจัน เพื่อเข้ามาตีเมืองอโยธยานั้น ซึ่งไม่สามารถทำได้โดยง่ายนัก เพราะชาวบ้านบางระจันได้รวมตัวกันลุกขึ้นสู้ เพื่อต้านทานกองทัพอันเกรียงไกรของพม่าเอาไว้ได้นานถึง 5 เดือนเต็ม โดยที่ใช้อาวุธ เช่น พร้า จอบ เสียม เป็นต้น และไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ จากทางอโยธยาเลยแม้แต่น้อย แม้ว่าจะพ่ายแพ้ไปในที่สุด แต่วีระกรรมอันสุดแสนกล้าหาญของชาวบ้านบางระจันในครั้งนั้น และยังคงเป็นที่จดจำและประทับใจลูกหลานชาวไทยตลอดไป
จังหวัดสิงห์บุรี ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ลักษณะหน้าดินนั้นเป็นดินตะกอนปากแม่น้ำ ซึ่งมีแร่ธาตุและสารอาหารสูงซึ่ง เหมาะแก่การเพาะปลูกเป็นอย่างมาก สิงห์บุรีจึงเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเมืองไทย และเป็นพื้นที่มีอาณาเขตติดต่อกับเมืองแห่งพุทธศาสนาหลายจังหวัดสิงห์บุรีจึงมีวัดวาอารามจำนวนไม่น้อยที่น่าสนใจ และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ บางแห่งนั้นสวยงาม และโอบล้อมไปด้วยผืนสีทองของนาข้าวยามออกรวงสุกปลั่งเสริม ให้องค์พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่ตั้งตระหง่านนั้น งดงามตระการตายิ่งขึ้น
สถานที่ท่องเที่ยวไม่เด่นชัดมาก แต่อาหารการกินของจังหวัดสิงห์บุรี ไม่เป็นที่สองรองใคร มีอาหารหลากหลายชนิดให้เลือกชิมได้ทั้งวัน โดยเฉพาะแหล่งตลาดเก่าแก่ต่าง ๆ เช่น ตลาดบ้านแป้ง ตลาดปากบาง ตลาดพรหมบุรี ฯลฯ นั้นเต็มไปด้วยสารพัดอาหารพื้นบ้านรสชาติเยี่ยม ที่บางอย่างก็ไม่สามารถหาทาน ที่ไหนได้ โดยเฉพาะเมนูปลาในจังหวัดสิงห์บุรี พร้อมที่จะทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจได้ตลอดเวลา สังเกตได้จากการที่เมืองทั้งเมืองต่างก็ใช้สัญลักษณ์เป็น ปลา เพื่อยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ และรับรองเป็นเซียนปลาน้ำจืดตัวจริง ซึ่งคนเมืองสิงห์สามารถพลิกแพลงนำเนื้อปลาช่อน จากลำน้ำแม่ลามาปรุงเป็น เค้กปลาช่อน ด้วยฝีมือของเกษราเบเกอรี่ที่โด่งดังไปทั่วประเทศและทั่วโลก หากอยากรู้ว่ารสชาติจะเป็นเช่นไรก็ต้องลองไปชิมกันดู ขอบอกเลยว่าคนเกลียดปลาก็ทานได้โดยที่ไม่รู้สึกอะไรเลย
แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เช่น วัดพิกุลทอง ตลาดเทศบาล ตลาดบ้านแป้ง วัดหน้าพระธาตุ ศูนย์อนุรักษ์ควายไทยเขางาม วัดสว่างอารมณ์ อุทยานแม่ลามหาราชานุสรณ์ เมืองโบราณบ้านคูเมือง เป็นต้น
วัดพิกุลทอง อยู่ในเขตตำบลวิหารขาว ห่างจากตัวเมืองประมาณ 16 กิโลเมตร อยู่ห่างจากวัดพระนอนจักรสีห์ วรวิหารไปประมาณ 9 กิโลเมตร มีชื่อเดิมว่า วัดใหม่พิกุลทอง แต่มักเรียกว่า วัดใหม่ เพราะสร้างขึ้นใหม่ในเขตบริเวณนี้ ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2434 โดยขุนสิทธิ์ นายกลับ สถิตย์บุตร และนายช่วง เป็นหัวหน้าดำเนินการก่อสร้าง และได้รับการพระราชทานวิสุงคามสีมา เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2440 ต่อมาในปี พ.ศ.2483 ได้ขอเปลี่ยนนามวัดเป็น วัดพิกุลทอง บริเวณวัดพิกุลทองแบ่งเป็นสองส่วนคือส่วนของตัววัดเดิม และส่วนของที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ฝั่งตรงข้ามเป็นวัดที่มีศิลปกรรมและการตกแต่งให้มีความสวยงาม ซึ่งมีศาสนสถานที่สำคัญหลายอย่าง เช่น วิหารรูปหล่อหลวงพ่อแพองค์ใหญ่, วิหารพระพุฒจารย์โต, พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อแพ, พระพุทธรูปประทานพรขนาดใหญ่ พระพุทธสุวรรณมงคลหามุนี, พระสีวลี, พระสังกัจจายนะ, วิหารคด, พระประธานในอุโบสถ, พระพิฆเนศ โดยภายในวัดมีความร่มรื่น มีจุดนั่งพักผ่อนทั่วบริเวณ และด้านหน้าวัดมีตลาดของกินและของฝากหลายอย่าง ฝั่งตรงข้ามเป็นที่จอดรถและร้านบริการอาหารเครื่องดื่มมากมาย

วัดพิกุลทอง
ตลาดเทศบาล ที่ตั้งอยู่ในเขตตัวเมือง ซึ่งก็สมกับที่เป็นเมืองปลาเพราะมีปลาหลากหลายชนิด ทั้งสดและแห้งวางขายกัน อยู่เกลื่อนกล่นมากมายหลายชนิด แทบจะเรียกได้ว่าเป็นสวรรค์ของผู้ที่ชื่นชอบ การรับประทานปลาน้ำจืดอย่างแท้จริง สิ่งที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ ปลาแดดเดียว โดยเฉพาะปลาช่อนแดดเดียวนั้นคือสิ่งที่ถูกถามหามากที่สุด และกุนเชียงปลา คือ กวนเชียง ใช้ปลาเป็นวัตถุดิบ อีกอย่างหนึ่งที่มีชื่อเสียงของเมืองสิงห์บุรีก็คือขนมเปี๊ยถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่เลยทีเดียว แต่มีอยู่เจ้าหนึ่งที่ไม่เหมือนใคร นั่นก็คือ ขนมเปี๊ยโรตีนายกิมเซี้ยะที่เอาขนมเปี๊ยมาปิ้งบนกระทะเหล็กร้อนฉ่า และยังมีซาลาเปาแม่สายใจที่ทำซาลาเปาขายมานานกว่า 40 ปี
ตลาดบ้านแป้ง อยู่ในบริเวณไม่ไกลจากวัดอัมพวัน อย่าเข้าใจว่าที่นี่จะเหมือนตลาดเก่าทั่วไป ซึ่งเป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่มีอาคารไม้ห้องแถว แต่เสน่ห์ของที่นี่ก็คือความเก่า และฝีมือการทำอาหารรุ่นเก่าแก่ที่ดังสุด ๆ ในหมู่คนรู้ก็คือ ร้านก๋วยเตี๋ยวบ้านแป้ง ของคุณตาสมศักดิ์ ที่เปิดขายมาตั้งแต่ พ.ศ. 2495 เอกลักษณ์ของร้านนี้คือเส้นบะหมี่รูปทรงแบนที่ทางร้านทำขึ้นเอง เปิดขายมาตั้งแต่ชามละไม่กี่สิบบาท รสชาติอร่อยตามแบบฉบับก๋วยเตี๋ยวย้อนยุค
วัดหน้าพระธาตุ อยู่ในเขตบ้านพระนอนจักรสีห์ ตำบลจักรสีห์ ซึ่งเดิมชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า วัดหัวเมือง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดหน้าพระธาตุ สันนิษฐานว่าสถานที่บริเวณนี้จะเป็นที่ตั้งของเมืองสิงห์บุรีเก่า สิ่งที่สำคัญของวัดนี้คือ องค์พระปรางค์สูงประมาณ 8 วา ทำเป็นรูปครุฑ อสูรถือกระบองประดับอยู่เหนือชั้นเชิงบาตร ภายหลังมีการเสริมแต่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบศิลปะอยุธยาตอนต้น โดยการก่ออิฐเพิ่มเติมเป็นซุ้มจรนัมทั้งสี่ด้าน ตั้งแต่ฐานศิลาแลงขึ้นไปก่อด้วยอิฐย่อมุมทรงปรางค์ กลีบขนุนปรางค์ก่อด้วยอิฐ ทิศตะวันออกขององค์ปรางค์มีพระวิหารหลวง ทิศตะวันตกเป็นพระอุโบสถ และมีเจดีย์กลมเรียงรายหลายองค์ เป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 ที่ผ่านมา
ศูนย์อนุรักษ์ควายไทยเขางาม เป็นสถานที่เลี้ยงควายไทยเพื่ออนุรักษ์ไม่ให้หมดสิ้นไปจากประเทศ โดยมอบให้ชาวเกษตรกรนำไปขยายพันธุ์ต่อไป รวมทั้งเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของควายไทย ที่ได้ร่วมรบกับชาวบ้านบางระจัน ต่อสู้กับพม่าเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 วัดอัมพวัน ตั้งอยู่ที่ตำบลพรหมบุรี ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 36 กิโลเมตรที่ 130 เป็นวัดที่มีชื่อเสียงในด้านการปฏิบัติธรรมทางวิปัสสนากรรมฐาน มีพระราช สุทธิญาณมงคล ซึ่งมีหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมโมเป็นเจ้าอาวาส

วัดสว่างอารมณ์
วัดสว่างอารมณ์ ตั้งอยู่ที่บ้านบางมอญ ตำบลต้นโพธิ์ ในเขตเทศบาลอำเภอเมืองสิงห์บุรี ห่างจากศาลากลางจังหวัดหลังเก่าไปทางลำน้ำเจ้าพระยาประมาณ 2 กิโลเมตร วัดนี้เป็นศูนย์รวมของศิลปะหลายด้าน ได้แก่ การศึกษา การก่อสร้างโบสถ์ วิหารศาลา โดยเฉพาะการปั้นพระพุทธรูปเหมือน ที่สืบทอดวิชาปั้นพระพุทธรูปมาจากตระกูลบ้านช่างหล่อธนบุรี ซึ่งภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ เป็นแหล่งเก็บรวบรวมตัวหนังใหญ่ที่สมบูรณ์และสามารถเล่นได้กว่า 300 ตัว ซึ่งพระครูสิหมุณี อดีตเจ้าอาวาส ได้รวบรวมตัวหนังใหญ่จากฝีมือช่างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเอาไว้ และส่วนหนึ่งได้รับมอบหมายจากครูเปีย หัวหน้าคณะหนังเร่ ผู้ที่มีความสามารถในการเชิด-พาทย์หนังใหญ่ และได้ถ่ายทอดการแสดงหนังใหญ่สืบต่อกันมา ตัวหนังใหญ่ที่ใช้แสดงแบ่งเป็นชุดใหญ่ ๆ ได้ 4 ชุด คือชุดศึกใหญ่ (ศึกทศกัณฑ์) ชุดศึกมงกุฎ-บุตรลบ ชุดนาคบาศ และชุดศึกวิรุณจำบัง มีการสาธิตการแสดงหนังใหญ่
อุทยานแม่ลามหาราชานุสรณ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลทับยา มีพื้นที่อยู่ในเขตอำเภออินทร์บุรีและอำเภอบางระจัน ห่างจากอำเภอเมืองไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 309 ประมาณ 9 กิโลเมตร จะมีทางแยกเลี้ยวซ้ายไปบ้านเชิงกลัด เข้าไปอีกประมาณ 1.2 กิโลเมตร ก็จะถึงอุทยานแม่ลามหาราชานุสรณ์ คำว่า แม่ลา เป็นชื่อลำน้ำสายหนึ่งในท้องที่จังหวัดสิงห์บุรี ไหลผ่านพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภออินทร์บุรี อำเภอบางระจัน และอำเภอเมืองสิงห์บุรี เป็นลำน้ำธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารของปลา ฉะนั้น ปลาที่จับได้จากลำน้ำแม่ลาจึงมีรสชาติอร่อย อ้วน เนื้อนุ่ม มัน โดยเฉพาะปลาช่อนแม่ลา ซึ่งเป็นอาหาร และของฝากที่ขึ้นชื่อของจังหวัดสิงห์บุรี ปัจจุบันปลาช่อนแม่ลาหายากขึ้นทุกวัน ทางราชการจึงหาทางอนุรักษ์และฟื้นฟู โดยขุดลอกลำน้ำ และสร้างอุทยานแม่ลามหาราชานุสรณ์ขึ้นริมฝั่งแม่น้ำลาการ้อง โดยรอบ ๆ บริเวณอาคารได้จัดให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน

ฟาร์มกำนันเขียว
เมืองโบราณบ้านคูเมือง อยู่ภายในสวนรุกขชาติคูเมือง ตั้งอยู่ที่บ้านคูเมือง ตำบลห้วยชัน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 23 กิโลเมตร มีเนินดินขนาดใหญ่ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีการขุดค้นพบภาชนะดินเผามากมาย เช่น เครื่องถ้วยชาม หม้อ ไห กาน้ำ ลูกปัดหินสีต่าง ๆ ตะคันดินเผา ธรรมจักรหินเขียว ตุ้มหู ลูกปัด หินสี และเหรียญเงินมีคำจารึกว่า ศรีทวารวดีศวรปุญยะ แสดงให้เห็นว่ามีชุมชนอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ติดต่อกันมาตั้งแต่สมัยฟูนันจนถึงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันวัตถุโบราณที่ค้นพบ ได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุรี และภายในบริเวณเมืองโบราณบ้านคูเมือง ปัจจุบันได้จัดให้เป็นสวนรุกขชาติ มีเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ มีคูน้ำโบราณล้อมรอบ มีพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ร่มรื่นสวยงาม