ไหว้พระถิ่นวีรชนคนกล้า เมืองสิงห์บุรี
วันนี้จะไปไหว้พระขอพระที่ถิ่นวีรชนคนกล้า ที่นั่นคือ เมืองสิงห์บุรีนั่นเอง
เมื่อพูดถึงชื่อจังหวัดสิงห์บุรี สิ่งที่จะแวบขึ้นมาในหัวของอดิ นั่นคือ วีรกรรมของชาวบ้านบางระจันที่ช่วยกันต่อสู้กับกองทัพพม่าอย่างกล้าหาญ ทำให้ทริปนี้เราไม่พลาดที่จะไปไหว้ศาลรวมวีรชนชาวบ้านระจันที่วัดโพธิ์เก้าต้น และยังได้เดินเทียวตลาดย้อนยุคบ้านระจัน ถือว่าเป็นไฮไลท์ของทริปนี้
สิงห์บุรี เป็นอีกหนึงจังหวัดใกล้กรุง ใช้เวลาเดินทาง เพียงแค่ 2 ชั่วโมงเท่านั้น เมืองสิงห์ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มภาคกลาง มีน้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพการเดินทางก็แสนจะสะดวกวิ่งมาทางสายเอเซียแปปเดียวก็ถึงละครับ สิงห์บุรีเป็นจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวเยอะมากครับ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ วัดสวยๆ หรือจะมาของอร่อยๆทาน และที่พลาดไม่ได้คือปลาช่อนแม่ลา ที่เนื้อแน่นอร่อยสุดๆ
จุดเช็คจะมีที่ไหนกันบ้าง ตามกันมาเลยครับ !!!!!!!
- วัดพิกุลทองหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดหลวงพ่อแพ” (พระเทพสิงหบุราจารย์) อยู่ในเขตตำบลวิหารขาว ห่างจากตัวเมืองประมาณ 16 วัดพิกุลทองมีพระพุทธรูปปางประทานพรองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ พระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี ขนาดหน้าตักกว้าง 11 วา 2 ศอก 7 นิ้ว สูง 21 วา 1 คืบ 3 นิ้วมีลักษณะเป็นหลวงพ่อใหญ่สีทองอร่าม ภายในเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กประดับด้วยโมเสกทองคำธรรมชาติชนิด 24 เค เป็นวัดที่ศรัทธาเลื่อมใสสำหรับชาวบ้านมากเพราะหลวงพ่อแพ อดีตเจ้าอาวาส เป็นพระที่ชาวบ้านเคารพรักมาก ท่านได้ทำประโยชน์แก่พุทธศาสนาไว้มากมายและมีส่วนช่วยให้วัดพิกุลทองมีลักษณะสวยงามไม่ชำรุดทรุดโทรม พระวิหารใหญ่มีวิหารคดซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปปางประจำวันต่างๆ และพระสังกัจจายองค์ใหญ่ให้โชคลาภ บริเวณวัดยังมีสวนธรรมะและสิ่งก่อสร้างที่สวยงามน่าสนใจ บรรยากาศร่มรื่น เย็นสบาย สะอาดสบายตา วัดได้รับการดูแลรักษาอย่างดี สถานที่สมบูรณ์น่าท่องเที่ยว และมีบ่อน้ำที่มีปลาชุกชุมให้อาหารได้ ยิ่งไปกว่านั้นด้านหลังของวัดยังมีสิ่งศักดิสิทธิ์ของชาวไทยตามความเชื่อทางพราหมณ์-ฮินดู คือ พระพิฆเนศเทพแห่งศิลปะวิทยาการ ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธา อย่างมากอยู่ด้วยโดยองค์พระพิฆเนศมีขนาดใหญ่มากตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่กลางน้ำ ลำตัวสีนวล ทางวัดได้สร้างสะพาน ไว้เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปกราบไหว้บูชาได้

วัดพิกุลทอง
- วัดโพธิ์เก้าต้นหรือวัดไม้แดง ตั้งอยู่ที่หมู่ 8 ตำบลบางระจัน อำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี จุดเด่นวัดโพธิ์เก้าต้นคือ สัญลักษณ์กำแพงวัดที่สร้างจำลองกำแพงค่าย เพราะวัดนี้เดิมเป็นฐานที่มั่นของชาวบ้านบางระจัน ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นสถานที่ที่วีรชนชาวบ้านบางระจันมีวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติรังสีประดิษฐานรูปปฏิมากรรมอยู่ ซึ่งพระอาจารย์ธรรมโชติเป็นที่เคารพสักการะของชาวสิงห์บุรีมาตั้งแต่ช้านาน เนื่องจากท่านเป็นมิ่งขวัญและพลังใจแก่เหล่าวีระชนชาวบ้านบางระจัน ทำให้วีระชนเข้าต่อสู้ป้องกันข้าศึกและได้รับชัยชนะ บริเวณกุฏิพระอาจารย์ธรรมโชติเป็นสถานที่ที่ประชาชนเข้ามากราบไหว้บูชา ขอพรบนบานศาลกล่าว ศักดิ์สิทธิ์มาก โดยมีสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งผู้คนมักเดินทางมาขอพรหรือบนขอสิ่งที่ต้องการเมื่อได้ตามที่ได้ขอพรไว้ก็จะมาแก้บนด้วยการหาบน้ำตามจำนวนหาบที่บนไว้เพื่อแก้บน เมื่อขอพรได้สมดังที่อธิษฐานไว้ พระอาจารย์ธรรมโชติเป็นพระที่มีอาคมชั้นเลิศและชำนาญเรื่องเกี่ยวกับยาสมุนไพร พระอาจารย์ธรรมโชติเดิมท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดเดิมบางนางบวชเมืองสุพรรณบุรี พอเกิดสงครามชาวบ้านศรีบัวทองโดยมีนายเมืองเป็นผู้ไปนิมนต์ท่านมาอยู่ที่วัดโพธิ์เก้าต้นแห่งนี้ ในสมัยที่พม่ายกทัพเข้ามาประชาชนต่างหนีเอาตัวรอดและเข้ามาอยู่รวมกันที่วัดโพธิ์เก้าต้นเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมากความต้องการยาสมุนไพรและน้ำมนต์ของพระอาจารย์ธรรมโชติมากขึ้นด้วย พระอาจารย์ท่านไม่มีภาชนะที่ใหญ่พอกับความต้องการของชาวบ้านโดยเฉพาะเหล่านักรบที่ต้องการน้ำมนต์เพื่อเป็นกำลังใจในการรบพระอาจารย์ท่านจึงทำน้ำมนต์ใส่สระขนาดใหญ่เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของชาวบ้าน น้ำในสระจึงมีความศักดิ์สิทธิ์มาจนถึงปัจจุบัน ฝั่งตรงข้ามวัดโพธิ์เก้าต้นยังเป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์ “วีรชนค่ายบางระจัน” ให้คนรุ่นหลังเข้าไปกราบไหว้ระลึกถึงและยังได้พัฒนาพื้นที่สร้างพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติศาสตร์ความกล้าหาญทั้ง 8 ครั้งของวีรชนสิงห์บุรีในอดีต

วัดโพธิ์เก้าต้น
- วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ที่ตำบลจักรสีห์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ห่างจากตัวเมือง สิงห์บุรีระยะทางประมาณ 4 กม. หลวงพ่อพระนอนจักรสีห์เป็นรูปของพระพุทธเจ้าปางไสยาสน์เทศนาปาฏิหาริย์แก่อสุรินทราหูผู้เป็นยักษ์ เพื่อลดทิฎฐิของอสุรินทราหูที่ถือว่ามีร่างกายใหญ่โตกว่ามนุษย์ พระพุทธเจ้าจึงเนรมิตร่างกายให้ใหญ่กว่ายักษ์ ” หลวงพ่อพระนอน ” จึงเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่และยาว สร้างโดยท้าวอู่ทองมีความยาว 3 เส้น 3 วา 2 ศอก 3 คืบ 7 นิ้ว ( 40 เมตร ) พระเศียรชี้ไปทางตะวันออก หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ มีความงดงามอย่างมาก มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า “ สิงหพาหุมีพ่อเป็นสิงห์ ” พอรู้ความจริง คิดละอายเพื่อนว่าพ่อเป็นสัตว์เดรัจฉานจึงฆ่าสิงห์ตาย ภายหลังรู้สึกตัวกลัวบาปและเสียใจเป็นอย่างมากจึงสร้างพระพุทธรูป โดยเอาทองคำแท่งโต ๓ กำมือ ยาว 1 เส้น เป็นแกนขององค์พระเป็นการไถ่บาปและพระพุทธรูปมีอยู่ให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชามาหลายชั่วอายุคนจนองค์หลวงพ่อพระนอนได้พังทลายลงเป็นเนินดิน กาลนานต่อมาท้าวอู่ทองได้นำพ่อค้าเกวียนผ่านมาทางนี้แล้วพบแกนทองคำฝังอยู่ในเนินดินและทราบเรื่อง สิงหพาหุเกิดความเลื่อมใสและเห็นเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาจึงชักชวนพ่อค้าเกวียนก่อสร้างพระพุทธรูปนี้ขึ้นโดยใช้ทองแท่งทองคำที่พบนั้นเป็นแกนองค์พระจน พ.ศ. 2297 และ พ.ศ. 2299 พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้เสด็จมานมัสการและซ่อมแซมองค์พระพร้อมทั้งได้สร้างพระวิหาร พระอุโบสถ และเสนาสนะต่าง ๆ ขึ้นใหม่ และวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จมานมัสการพร้อมพระบรมวงศานุวงศ์จึงนับได้ว่า ” หลวงพ่อพระนอนจักรสีห์ ” เป็นปูชนียวัตถุที่ทรงไว้ซึ่งปาฏิหาริย์ล้ำค่า เป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์

วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร
- ตลาดไทยย้อนยุคบ้านระจันได้จำลองบรรยากาศในสมัยอดีตในสมัยนักรบบางระจันให้มีกลิ่นอายของความเป็นสนามรบมีป้อมปราการไม้สูงใหญ่เป็นฉากให้ถ่ายรูป มีการจัดแต่งซุ้มจำหน่ายสินค้าด้วยวัสดุธรรมชาติในรูปแบบพื้นบ้าน ให้ความรู้สึกที่ผ่อนคลาย มีเมนูอาหารการกินแบบไทยที่หาทานได้ยาก ให้บริการประชาชน นักท่องเที่ยว ได้มาลองลิ้มชิมรสอาหารโบราณ ที่บางคนอาจลืมไปแล้วให้ได้รำลึกถึงอาหารเมื่อวันวานได้ชมการละเล่นพื้นบ้าน ซึ่งกิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ไฮไลท์เด็ดที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเที่ยวตลาดไทยย้อนยุคบ้านระจันแต่งชุดไทยมีให้เช่าในราคา 100 บาท ทั้งแบบชายหญิง อุปกรณ์ พรอบมาเต็มมาก ทุกแบบทุกสไตล์บริเวณซุ้มประตูค่ายบางระจันจะมีชาวบ้านมาแต่งกายแบบนักรบเพื่อให้เราได้ร่วมถ่ายภาพ โดยมีกล่องรับบริจาคตามกำลังศรัทธา ตลาดส่วนใหญ่จะเน้นไปทางอาหารและของกินต่างๆ มีทั้งอาหารคาวหวาน ขนมไทยโบราณ ของฝาก สินค้าพื้นบ้าน มากมาย ให้ได้เลือกซื้อ เลือกชิม กันจนอิ่ม ซึ่งขนมบางอย่างก็เป็นขนมไทยที่หาทานได้ยาก จานชามใส่อาหารทุกอย่างนำความเป็นไทยมาขายเพื่อร่วมกันอนุรักษ์ความเป็นไทยเอาไว้และที่โดดเด่นคือ พ่อค้า เเม่ค้า ทุกร้านจะเเต่งกายย้อนยุคในตามแบบชาวบ้านบางระจันในยุคประวัติศาสตร์และใช้ภาษาโบราณคุยกับเรา เช่น ขอรับ เจ้าค่ะ ทำให้เราได้รู้สึกเหมือนได้ย้อนกลับไปในยุคบางระจัน

ตลาดไทยย้อนยุคบ้านระจัน